ระบบการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว
สิงคโปร์ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด (The Constitution) แบ่งอำนาจการปกครองเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. สภาบริหาร (The Executive) ประกอบด้วยประธานาธิบดี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศผ่านกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานในสังกัดราชการอื่นๆ
ประธานาธิบดีสิงคโปร์มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเซลลาปัน รามา นาทาน (Mr. Sellapan Rama Nathan) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสิงคโปร์ แต่เป็นคนที่ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548
คณะรัฐมนตรีสิงคโปร์มาจากการเลือกตั้งทั่วไปทุก 5 ปี พรรคการเมืองสำคัญ 4 พรรค ได้แก่ People’s Action Party (PAP) ของนายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ก่อตั้งในปี 2497 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2502 ที่เริ่มมีการเลือกตั้ง พรรค PAP ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก และจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศด้วยความมั่นคงมาตลอด Worker’s Party (WP) ก่อตั้งขึ้นในปี 2500 ปัจจุบันมีนาย Low Thia Kiang เป็นหัวหน้าพรรค Singapore Democratic Party (SDP) ก่อตั้งในปี 2523 ภายใต้การนำของนาย Chee Soo Juan และ Singapore Democratic Alliance (SDA) ก่อตั้งเมื่อปี 2544 จากการรวมพรรคเล็กหลายพรรค ปัจจุบันมีนาย Chiam See Tong เป็นหัวหน้าพรรค
สำหรับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ได้แก่
- นาย ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- นาย โก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) รัฐมนตรีอาวุโส และ Chairman of the Monetary Authority of Singapore
- นาย ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) รัฐมนตรีที่ปรึกษา
- ศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (Jayakumar Shunmugam) กฎหมาย และรัฐมนตรีประสานงานกิจการ ด้านความมั่นคงแห่งชาติ
- นายจอร์จ เอี่ยว (George Yeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- นาย ลิม เฮง เกียง (Lim Hng Kiang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม
2. รัฐสภา (Parliament) มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งล่าสุดวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 ได้สมาชิกสภาผู้แทนรวม 84 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล รวม 82 คน มาจากพรรค People’s Action Party และฝ่ายค้านมี 2 คน มาจากพรรค Worker’s Party และพรรค Singapore Democratic Alliance สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดในต้นปี 2554
3. สภาตุลาการ (The Judiciary) แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ศาลชั้นต้น (Subordinate Courts) และศาลฎีกา (Supreme Court)